เมืองนครราชสีมามีฐานะเป็นเมืองสำคัญในด้านการทหารและการปกครองยิ่งกว่าแต่ก่อนมาก ในต้นรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก โปรดเกล้าฯ ให้เมืองนครราชสีมามีฐานะเป็นเมืองเอก เจ้าเมืองมีบรรดาศักดิ์ “เจ้าพระยา” ให้ปกครองเมืองเขมรป่าดง และหัวเมืองตอนในภาคอีสาน

 

“...แต่ก่อนกาลท่านวีรสตรี 
ท้าวสุรนารีผู้เป็นใหญ่
กล้าหาญยอดยิ่งผู้หญิงไทย
มิ่งขวัญธงชัยของเมืองเรา...”

วีรกรรมทุ่งสัมฤทธิ์


เหตุการณ์สำคัญต่อประวัติศาสตร์จังหวัดนครราชสีมาในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว คือ  วีรกรรมทุ่งสัมฤทธิ์เมื่อพุทธศักราช ๒๓๖๙ โดยเหตุการณ์ในครั้งนั้น เจ้าอนุวงศ์ผู้ครองเมืองเวียงจันทน์ ได้ทำการก่อกบฏต่อกรุงเทพฯ ยกทัพเข้ามายึดเมืองนครราชสีมา แล้วกวาดต้อนครัวชาวนครราชสีมาและคุณหญิงโมไปถึงที่ทุ่งสัมฤทธิ์ คุณหญิงโมและครัวชาวนครราชสีมาได้ต่อต้านเกิดเป็นวีรกรรมทุ่งสัมฤทธิ์ เมื่อวันที่ ๔ มีนาคม พุทธศักราช ๒๓๖๙ ช่วยให้สามารถกอบกู้เมืองนครราชสีมากลับคืนมาได้ในที่สุด

 

กลุ่มชาติพันธุ์

            นครราชสีมา มีประชากรที่ประกอบด้วยหลายกลุ่มชาติพันธุ์ บางกลุ่มก็เป็นเจ้าของถิ่นเดิม เช่น ชาวบน (ญัฮกุร) ไทยโคราช บางกลุ่มก็อพยพโยกย้ายเข้ามาในหลายหลัง ด้วยสาเหตุทั้งทางการเมือง การสงคราม และการอพยพมาเพื่อหาแหล่งที่ทำกินใหม่ เช่น กลุ่มไทย  ลาว เขมร มอญ กุย (ส่วย) จีน แขก ซึ่งแต่ละเผ่าพันธุ์ก็มีอาชีพ มีประเพณี วัฒนธรรม ความเชื่อ การแต่งกายและภาษาพูด แตกต่างกันออกไป แต่สามารถอยู่รวมกันได้เป็นอย่างดี นับได้ว่าเป็นความหลากหลายทางวัฒนธรรม

เศรษฐกิจการค้า


สภาพภูมิประเทศของเมืองนครราชสีมามีป่าอุดมสมบูรณ์ ผลผลิตจากป่าเป็นสินค้าที่มีคุณค่าทางเศรษฐกิจอย่างมาก ในช่วงรัตนโกสินทร์ตอนต้น สินค้าที่นครราชสีมาส่งให้กรุงเทพฯ ยังคงเป็นสินค้าแบบเดียวกับที่เคยส่งให้กับราชอาณาจักรอยุธยา คือ อยู่ในรูปของส่วยและเป็นสินค้าโดยตรง

ตั้งแต่สมัยอยุธยาจนถึงรัตนโกสินทร์ชาวเมืองนครราชสีมาส่วนใหญ่จะประกอบอาชีพหาของป่า เลี้ยงสัตว์ และเพาะปลูก สินค้าที่ได้จากป่า อาทิ หนังสัตว์ เขาสัตว์ ไม้เนื้อหอมต่างๆ น้ำผึ้ง เป็นต้น การเลี้ยงสัตว์จะเป็นประเภท โค  กระบือ และสุกร ส่วนการเพาะปลูกจะเป็นพวกข้าวเป็นหลัก แต่สินค้าที่มีค่าทางเศรษฐกิจมากที่สุด คือ สินค้าของป่า สินค้าเหล่านี้จะมีบรรดาพ่อค้ามารับซื้อหรือแลกเปลี่ยนในรูปแบบของกองคาราวานเกวียน เดินทางค้าขายไปทั่วภูมิภาคเขตอินโดจีน พ่อค้าบางส่วนจะเป็นข้าราชการไทยหรือพ่อค้าชาวจีนจะมาหาซื้อสินค้าจากเมืองนครราชสีมาและนำไปขายต่อที่กรุงเทพฯ

 

 

บ้านเรือนและสินค้าของชาวไทยใหญ่ที่เมืองโคราช พ.ศ. ๒๔๔๙

 

การค้าแบบกองเกวียน


การค้าแบบกองเกวียนเป็นการค้าที่สำคัญของเมืองนครราชสีมาและในภาคอีสาน ชาวโคราชใช้เกวียนสำหรับการเดินทางไกลๆ โดยเฉพาะการเดินทางที่ต้องบรรทุกสินค้าไปมาระหว่างเมือง การเดินทางแต่ละครั้งจะจัดเป็นขบวนใหญ่ เรียกว่า “กองคาราวานเกวียน” เพื่อจะได้สามารถบรรทุกสินค้าไปขายคราวละมากๆ และเพื่อความปลอดภัยจากโจรผู้ร้าย ในกองเกวียนจะมีผู้ดูแลเรียกว่า “นายฮ้อย” สินค้ากองเกวียนที่ส่งไปขายบริเวณเมืองนครราชสีมา มักเป็นของป่า ครั่ง นุ่น หนังสัตว์ เขาสัตว์ เกลือสินเธาว์ และสินค้าที่มาจากภาคกลาง เช่น ผ้าดิบ ยารักษาโรค เป็นต้น กองเกวียนจะบรรทุกสินค้าจากหัวเมืองต่างๆ ทั้งลาวและเขมร เช่น โค กระบือ กระวาน ไหม กำยาน แพรญวน พลอยแดง ดีบุก เป็นต้น

   

กลุ่มวาณิชในมณฑลนครราชสีมา


ภายหลังมีการเปิดทางรถไฟสู่ตัวเมืองนครราชสีมา ได้มีกลุ่มพ่อค้าหลายกลุ่มได้ทำการค้าในเขตเมืองอย่างมาก โดยในปี พ.ศ. ๒๔๔๓ กลุ่มพ่อค้าที่ทำการค้าขายในมณฑลนครราชสีมา ประกอบด้วย พ่อค้าชาวไทยโคราช พ่อค้าชาวไทยจากภาคกลาง พ่อค้าชาวไทยเชื้อสายลาว เขมร มอญ และพม่า แต่กลุ่มพ่อค้าที่มีบทบาทมากที่สุด คือ กลุ่มพ่อค้าชาวไทยเชื้อสายจีนและพ่อค้าชาวไทยเชื้อสายอินเดีย (ไทยซิกข์)

โกดังจิ้นกี่ ยุคนั้นขายสบง จีวร ด้ายดิบ เสื้อผ้า ของใช้ และของป่า
(ที่มา: หอการค้าจังหวัดนครราชสีมา, ๒๕๔๒)

 

   

ประวัติคุณยายยี่สุ่น ไกรฤกษ์


            ศิลปวัตถที่จัดแสดงในห้องุนี้ ส่วนใหญ่เป็นมรดกจากตึกดินของคุณยายยี่สุ่น ไกรฤกษ์ ซึ่งทายาท คือ คุณเสริมศรี  โชรัมย์ ได้มอบให้ศูนย์วัฒนธรรม เมื่อเดือนพฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๓๘ ประกอบด้วย เอกสารโบราณ อาทิ ใบลาน ซึ่งมีคัมภีร์พระเจ้าสิบชาติ วรรณกรรมท้องถิ่น ตำรายา ตำรากฎหมาย กฎหมายลักษณะทาส พิมพ์เมื่อจุลศักราช ๑๒๔๒ กฎหมายลักษณะผัวเมีย พิมพ์เมื่อจุลศักราช ๑๒๔๔ จดหมาย หนังสือ สัญญา พัสดุตีพิมพ์ นามบัตร บัตรอวยพร มีดชนิดต่างๆ กรรไกร เครื่องยา หินบดยา ผ้า เครื่องแต่งกายขุนนาง เงินเหรียญ เครื่องมือเครื่องในในครัวเรือน ฯลฯ

            ตึกดินเป็นนิวาสสถานของคหบดีหรือขุนนางที่สร้างด้วยดินผสมฟางอัดเป็นก้อนสี่เหลี่ยมวางต่อกันแล้วฉาบด้วยปูนขาว หลังคามุงด้วยสังกะสี โครงสร้างของตึกจะมีห้องด้านหน้า ห้องนอน ห้องครัว ในเมืองนครราชสีมามีตึกดินปรากฏ ณ บริเวณสี่แยกหลักเมืองและที่ถนนมหาดไทย จากเอกสารโบราณที่เป็นจดหมาย หนังสือสัญญาที่ได้จากตึกดินปรากฏนามพระยาศรีสิงหเทพ คุณหญิงมา ขุนบริบาลนิคมเขต หลวงภักดีรณรงค์ ฯลฯ ซึ่งเป็นคหบดีชาวโคราชและขุนนางเมืองอุบลราชธานี ในช่วงปีพุทธศักราช ๒๔๑๔-๒๔๔๔

คุณยายยี่สุ่น ไกรฤกษ์

   
 
   

 


พิพิธภัณฑ์เมืองนครราชสีมา : Korat Museum.
อาคาร 10 ชั้น 2 สำนักศิลปะและวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยราชภัฏนครราชสีมา